วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 ที่่จาการ์ตา 7-8 พฤษภาคม 2011


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 ณ กรุงจาการ์ตา ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2011 จบลงแล้วด้วยความเรียบร้อยและราบเรียบ ดูผลการประชุม จากเอกสารต่างๆที่ลงนามหรือประกาศร่วมกันก็สรุปได้ว่าไม่มีปฏิญญา, ความตกลง หรือประกาศ ฉบับใดที่แสดงว่าอาเซียนมีเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ หรือมีปัญหาใหญ่เร่งด่วนอันใดเป็นพิเศษ เอกสารจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 18 มีดังนี้ :

คำแถลงร่วมผู้นำอาเซียน เรื่อง ประชาคมอาเซียนในประชาคมแห่งประชาชาติโลก, 
จาการ์ตา, 8 พฤษภาคม 2011

คำแถลงร่วมผู้นำอาเซียน เรื่อง การก่อตั้งสถาบันสันติภาพและความปรองดองแห่ง
อาเซียน, จาการ์ตา, 8 พฤษภาคม 2011
คำแถลงร่วมผู้นำอาเซียน เรื่อง การเสริมสร้างความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้, จาการ์ตา, 8 พฤษภาคม 2011

ข่าวอื่นๆที่แถลงโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน ดังนี้ :
ผู้นำอาเซียนต้อนรับข้อเสนอที่จะให้แข่งขันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก, จาการ์ตา, 9 พฤษภาคม 2011
เยาวชนอาเซียนย้ำรากฐาน ต้นกำเหนิด และความสำเร็จ ของอาเซียนร่วมกัน (ข่าวการประชุมเยาวชนอาเซียน), จาการ์ตา, 8 พฤษภาคม 2011
อาเซียน และ สมาคมระหว่างรัฐสภาอาเซียน ประสานความร่วมมือหาทางสร้างประโยชน์ต่อกันและกันอย่างดีที่สุด, จาการ์ตา, 8 พฤษภาคม 2011
รัฐบาลอาเซียน และ องค์การภาคประชาสังคมเริ่มกระบวนการเป็นหุ้นส่วนกันมุ่งสู่ปี 2015, จาการ์ตา, 8 พฤษภาคม 2011
ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเรียกร้องให้อาเซียนพร้อมเผชิญกับการท้าทายและฉวยโอกาสแห่งศตวรรษใหม่, จาการ์ตา, 7 พฤษภาคม 2011
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหารือเรื่องความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, จาการ์ตา, 7 พฤษภาคม 2011

คำแถลงร่วมผู้นำอาเซียน เรื่อง ประชาคมอาเซียนในประชาคมแห่งประชาชาติโลก

อาเซียนย้ำถึงความจำเป็นที่จะให้บรรลุถึงความเป็นประชาคมอาเซียนที่ถือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีบทบาทสำคัญอยู่ในประชาคมโลก จึงตกลงกันว่าภายในปี 2022 อาเซียนจะเพียรพยายามให้บรรลุคุณลักษณะร่วมกันอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้ :

เป็นอาเซียนที่มีจุดยืนต่อประเด็นปัญหาของโลกร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง แน่นเหนียวกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน มีผลประโยชน์และความห่วงใยร่วมกัน บนพื้นฐานของการมีมุมมองต่อโลกร่วมกัน ดังนี้ก็จะเป็นการเสริมสร้างความหนักแน่นเป็นพลังให้กับอาเซียนในเวทีโลก เป็นอาเซียนที่มีการเสริมสร้างขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือและตอบ สนองต่อปัญหาสำคัญต่างๆของโลก อันเป็นปัญหาที่อาเซียนมีผลประโยชน์และมีความห่วงใยร่วมกัน การสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการมีสัมพันธ์ภาพเชิงสร้างสรรค์ต่อโลก เช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐสมาชิกอาเซียนและประชาชนอาเซียนด้วย

เป็นประชาคมอาเซียนที่มีความแข็งแกร่งบนหลักการของการมีกฎหมายเป็นเครื่อง มือการปฏิบัติงานขององค์การ โดยมีกฎบัตรอาเซียนเป็นฐานราก ขณะเดียวกันก็ยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน ค่านิยม และแนวทางหลักในการปฏิบัติงานต่างๆของอาเซียน และเป็นอาเซียนที่เสริมสร้างขีดความสามารถให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อ จะทำให้เป็นสำนักงานที่จะสนับสนุนวิสัยทัศน์อาเซียน และการพัฒนาประชาคมอาเซียนไปสู่การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมประชาชาติโลกต่อ ไป

จากนี้ไป รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะต้องประชุมเตรียมการเพื่อร่างคำประกาศเป็น “ปฏิญญา” อย่างเป็นทางการ เรียกว่า “Declaration on ASEAN Community in a Global Community of Nations” (ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมแห่งประชาชาติโลก) เพื่อจะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 เพื่อการลงนามโดยผู้นำรัฐบาลอาเซียนและประกาศเป็น “ปฏิญญา” ต่อไป


วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ศูนย์อาเซียนศึกษา โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น

ศูนย์อาเซียนศึกษา โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น

ความเป็นมาของอาเซียน
อาเซียน  หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นภาใต้ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ สมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกังพูชา ตามลำดับทำให้อาเซียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด 10 ประเทศ
วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งอาเซียน คือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒธรรม เทคโนโลยี และการบริหาร ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ นโยบายของอาเซียนจะเป็นผลจากการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวนโยบายในภาพรวมและเป็นโอกาสที่ประเทศสมาชิกจะได้ร่วมกันประกาศเป้าหมายและแผนการของอาเซียนในระยะยาว
อาเซียนมีความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรมครอบคลุมทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เยาวชน และได้มีการพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ในพ.ศ. 2546 ผู้นำประเทศอาเซียนได้เห็นชอบร่วมกันจัดตั้ง ประชาคม สังคม อาเซียน ซึ่งมีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในเสาหลัก เพื่อให้การพัฒนาการร่วมมือของอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปโดยมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และอาเซียนได้ตั้งเป้าหมายเป็นประชาคมสังคมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ในปีพ.ศ. 2558 โดยมุ่งหวังเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity) เพื่อรองรับการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ผลลัพย์ที่เกิดจากการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คือ ประเทศสมาชิกจะมีกลไกและเครื่องมือที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ประชาชนของประเทศสมาชิกมีความเป็นอยู่ดีกินดีและมีฐานะทางสังคมที่ทัดเทียมกัน

โครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน : Spirit of ASEAN
ความเป็นมาของโครงการ
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนด บทบาทการดำเนินงานด้านต่างประเทศเชิงรุก โดยเน้นการกระชับความสัมพันธ์และการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือด้านการศึกษา เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยและภูมิภาค ในกรอบความร่วมมือด้านการศึกษาอาเซียน ความร่วมมือดังกล่าวได้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยการปรับปรุงเชิงปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายโอกาสทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพการศึกษา การนำโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามารองรับ ตลอดจนการบริหารจัดการการศึกษาในเชิงคุณภาพและจัดทำแผนการศึกษา (ASEAN, 2552) ต่อมาในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ได้ให้การรับรองปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน โดยกำหนดให้สาขาการศึกษาตอบสนองการสร้างประชาคมการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภายในปี 2558
ดังนั้น เพื่อให้สอดรับนโยบายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน (Spirit of ASEAN) ตามโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2552 เพื่อผลักดันการดำเนินการด้านการศึกษาของประเทศไทยให้สอดรับต่อการเป็นประชาคมอาเซียน และพัฒนาเยาวชนไทยให้มีสมรรถนะที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในประชาคมอาเซียน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.  24 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียน Buffer School และอีก 30 โรงเรียนได้เป็นโรงเรียน  Sister School  รวมทั้งหมด 54 โรง โดยโรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในโรงเรียน Sister School
โดยศูนย์อาเซียนศึกษา โรงเรียนกัลยาณวัตร ได้คัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น 14 โรง เพื่อเป็นโรงเรียนเครือข่าย ในการขยายผลการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ได้แก่ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนขอนแก่นวิทยาลัย โรงเรียนนครขอนแก่น โรงเรียนขามแก่นนคร โรงเรียนท่าพระวิทยายน โรงเรียนสนามบิน โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) โรงเรียนอนุบาลขอนแก่น โรงเรียนชุมชนบ้านพระยืน โรงเรียนดงมันพิทยาคม โรงเรียนเขาสวนกวางวิทยานุกูล โรงเรียนชุมชนบ้านฝาง และโรงเรียนบ้านบึงเนียมบึงใคร่นุ่น

การให้บริการ
ศูนย์อาเซียนศึกษา  โรงเรียนกัลยาณวัตร  จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดให้บริการบุคลากรทางการศึกษา จากทุกๆ สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553   ทุกวันจันทร์ ศุกร์ เวลา 8.00 – 16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
โดยมีนางสาวประภาพรรณ  รุ่งโรจน์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อาเซียนศึกษา  ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และเป็นวิทยากรในกิจกรรมบริการความรู้เคลื่อนที่  โรงเรียนเครือข่าย ทั้ง 14 โรง

ภายในศูนย์มีสื่อให้ความรู้หลากหลายประเภท อาทิ
-  หนังสือ และแผ่นพับเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ
-  แหล่งสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต  คอมพิวเตอร์พร้อมอินเตอร์เน็ต 5 เครื่อง
-  ตุ๊กตาชุดประจำชาติ ชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10
-  สื่อวิดิทัศน์ ให้ความเพลิดเพลินควบคู่กับความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนและการพัฒนาในอนาคต
-  เอกสารข้อมูลสืบค้นต่างๆ ที่สามารถยืมได้
-  สัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมของชาติต่างๆ อาทิ ภาพแขวน และงานหัตถกรรมต่างๆ
-  ฯลฯ
กิจกรรมของศูนย์อาเซียนศึกษา  โรงเรียนกัลยาณวัตร  จังหวัดขอนแก่น
1. กิจกรรมการจัดทำหลักสูตรอาเซียนศึกษา
- จัดอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรอาเซียนศึกษา ให้แก่คณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  จากโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 14 โรง ในวันที่ 22- 25 มิถุนายน 2553 ณ ศูนย์วิจัยโรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น
2. กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ประชาคมอาเซียน
- จัดรายการเสียงตามสายอาเซียนภายในโรงเรียนศูนย์ ทุกวันอังคารเวลา 7.30 น.
- จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน แก่นักเรียนโรงเรียนที่ตั้งศูนย์
- จัดตั้งชุมนุมอาเซียนในโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา โดยมีนางสาวรัชนี  ภูหลงเพีย  ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม และมีนักเรียนเข้าชุมนุมจำนวน 54 คน จากทุกระดับชั้น
- เปิดสอนรายวิชาเพิ่มเติม อาเซียนศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2,4 และ 5
- เปิดสอนภาษาอาเซียน คือภาษาเวียดนาม ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2,3,5 และ 6
3. กิจกรรมบริการความรู้เคลื่อนที่
- จัดกิจกรรมบริการความรู้เคลื่อนที่ (อาเซียนสัญจร) ณ โรงเรียนเครือข่าย จำนวน 14 โรง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553
4. กิจกรรมค่ายวิชาการเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
- จัดค่ายวิชาการอาเซียน ในวันที่ 10 -11 สิงหาคม 2553 ณ ฟ้าฝางรีสอร์ท อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยเชิญคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนที่ตั้งศูนย์ และ 14 โรงเรียนเครือข่าย เข้าร่วม
5. กิจกรรมสัปดาห์อาเซียน
- จัดกิจกรรมสัปดาห์อาเซียน ในช่วงวันที่ 16- 20 สิงหาคม 2553
- จัดเทศกาลอาเซียน ในวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ณ โรงเรียนกัลยาณวัตร เพื่อรำลึกถึงวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันอาเซียน